สถานที่ท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศใต้เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น โบราณวัตถุที่รวบรวมได้ในระยะแรกได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงคตรอบองค์พระปฐมเจดีย์ กระทั่ง พ.ศ. 2454 จึงได้ย้ายไปไว้ในวิหารตรงข้ามพระอุโบสถ ซึ่งต่อมาเรียกว่า พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน ( ปัจจุบันยังคงเป็นพิพิธภัณฑสถานในความดูแลของวัดพระปฐมเจดีย์) พ.ศ. 2477 ได้ยกฐานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในความดูแลของกรมศิลปากร และเมื่อจำนวนโบราณวัตถุเพิ่มมากขึ้น อาคารหลังเดิมคับแคบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 กรมศิลปากรได้รับงบประมาณให้สร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานหลังปัจจุบันขึ้น และเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากหลังเดิมมาจัดแสดงไว้ที่นี่ โดยโบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้


ส่วนที่ 1 แนะนำลักษณะทั่วไปของจังหวัดนครปฐม ประวัติความเป็นมาของดินแดนแห่งนี้ การตั้งถิ่นฐานของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ การติดต่อรับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาพปูนปั้นรูปชาวต่างประเทศ ศิลาจารึกที่พบบริเวณเมืองโบราณนครปฐม

ส่วนที่ 2 เสนอเรื่องราวด้านศาสนาและความเชื่อของชุมชนทวารวดีที่นครปฐมสะท้อนผ่านงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ โบราณวัตถุที่จัดแสดงในส่วนนี้ประกอบด้วย ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมและประติมากรรมประเภทต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป ภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติ ภาพปูนปั้นเรื่องชาดกประดับฐานเจดีย์และธรรมจักร

ส่วนที่ 3 เรื่องราวของนครปฐมหลังความรุ่งเรืองสมัยทวารวดี จนถึงสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าให้ปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ และเป็นงานสำคัญที่สืบเนื่องต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่นครปฐมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมณฑลนครชัยศรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้น เมืองนครปฐมได้รับการพัฒนาเรื่อยมา
สถานที่ตั้ง :

ตั้งอยู่ภายในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ฝั่งพระศิลาขาว)
ถนนขวาพระ  ตำบลพระปฐมเจดีย์  อำเภอเมือง  จังหวัดนครปฐม

เวลาทำการ :
วันพุธ-วันอาทิตย์ 09.00-16.00 น.

ราคาตั๋วเข้าชม :
ชาวไทย 20 บาท
ชาวต่างประเทศ  100 บาท
เด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา พระภิกษุ นักบวช ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เข้าชมโดยไม่เสียค่าเข้าธรรมเนียม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
โทรศัพท์/โทรสาร : 034-242500
E-mail : prathom_museum@hotmail.com

 

 

สอบถาม