"องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น"
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2562
มาตรา 45 องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังต่อไปนี้
(1) ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
(2) จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(3) สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(4) ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
(5) แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
(6) อำนาจหน้าที่ของจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 เฉพาะภายในเขตสภาตำบล
(7) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(7 ทวิ) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(8) จัดทำกิจการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดำเนินการ
หรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(9) จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
บรรดาอำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาคอาจมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 46 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจจัดทำกิจการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่น หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่อยู่นอกเขตจังหวัดได้
เมื่อได้รับความยินยอมจากราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 47 กิจการใดเป็นกิจการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพึงจัดทำตามอำนาจหน้าที่ ถ้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่จัดทำ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคจัดทำกิจการนั้นได้ ในกรณีที่ราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคจัดทำกิจการตามวรรคหนึ่งให้คิดค่าใช้จ่ายและค่าภาระต่างๆ ตามความเป็นจริงได้ตามอัตราและระยะเวลาที่เหมาะสม
มาตรา 48 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น โดยเรียกค่าบริการได้ โดยตราเป็นข้อบัญญัติ
มาตรา 49 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมอบให้เอกชนกระทำกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดเสียก่อน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้กระทำกิจการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด สิทธิในการกระทำกิจการตามวรรคหนึ่ง เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนไม่ได้
มาตรา 50 การดำเนินกิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีลักษณะเป็นการพาณิชย์อาจทำได้โดยการตราเป็นข้อบัญญัติ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
มาตรา 51 ข้อบัญญัติจะตราขึ้นได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(2) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราข้อบัญญัติหรือให้มีอำนาจตราข้อบัญญัติ
(3) การดำเนินการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามมาตรา 50 ในข้อบัญญัติจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน และหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 52 ร่างข้อบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติ
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
มาตรา 53 ข้อบัญญัติจะใช้บังคับได้เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติและประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วสิบห้าวัน เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินถ้ามีความระบุไว้ในข้อบัญญัตินั้นว่าให้ใช้บังคับได้ทันที ให้ใช้บังคับข้อบัญญัติในวันที่ประกาศ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับร่างข้อบัญญัติแล้วต้องอนุมัติและประกาศภายในสิบห้าวัน ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อนุมัติและประกาศร่างข้อบัญญัติภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นด้วยกับร่างข้อบัญญัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะอนุมัติร่างข้อบัญญัติใดมิได้ถ้าเห็นว่าร่างข้อบัญญัตินั้นเป็นร่างข้อบัญญัติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือเป็นร่างข้อบัญญัติที่ออกนอกเหนืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ในกรณีเช่นนั้นให้ร่างข้อบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
มาตรา 54 เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้พิจารณาและเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติใด ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดส่งร่างข้อบัญญัตินั้นไปยังนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อลงนามแล้วส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ความเห็นชอบ ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่เห็นด้วยกับร่างข้อบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว ให้ส่งร่างข้อบัญญัตินั้นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยชี้ขาด ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นด้วยกับสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้กับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลงนามภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคืนมา ถ้านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่ลงนามภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามและประกาศใช้บังคับต่อไป ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นด้วยกับสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้ส่งร่างข้อบัญญัติคืนไปยังสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจารณาใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติคืนมา ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังยืนยันให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเท่าที่มีอยู่ ให้ดำเนินการประกาศร่างข้อบัญญัตินั้นใช้บังคับต่อไป
มาตรา 55 เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้พิจารณาและไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการของร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้ส่งร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่ให้ความเห็นชอบ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นด้วยกับสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป และให้ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งความเห็นชองของผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นด้วยกับสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้ส่งร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมคืนไปยังสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจารณาใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมคืนมา ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังยืนยันไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเท่าที่มีอยู่ ให้ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเป็นอันตกไป
มาตรา 56 ข้อบัญญัติให้ใช้บังคับได้ในเขตขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบัญญัติท้องถิ่นอื่นในเขตจังหวัดนั้น ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดและกระทรวงมหาดไทยจัดให้มีข้อบัญญัติที่ประกาศใช้บังคับแล้วไว้ ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและกรมการปกครองเพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้
มาตรา 57 ในกรณีฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ทันท่วงทีมิได้ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจออกข้อบัญญัติชั่วคราวได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสามัญประจำสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเมื่อได้ประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วให้ใช้บังคับได้ ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดคราวต่อไป ให้นำข้อบัญญัติชั่วคราวนั้นเสนอต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่ออนุมัติ และเมื่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอนุมัติแล้ว ให้ใช้ข้อบัญญัติชั่วคราวนั้นเป็นข้อบัญญัติต่อไป แต่ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่อนุมัติ ให้ข้อบัญญัติชั่วคราวนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้ข้อบัญญัติชั่วคราวนั้น
พระราชกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542
(1) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
(2) การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(3) การประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(4) การแบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(5) การคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(6) การจัดการศึกษา
(7) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(8) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
(9) การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม
(10) การจัดตั้งและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียรวม
(11) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม
(12) การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่าง ๆ
(13) การจัดการและดูแลสถานีขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ
(14) การส่งเสริมการท่องเที่ยว
(15) การพาณิชย์ การส่งเสริมการลงทุน และการทำกิจการไม่ว่าจะดำเนินการเองหรือร่วมกับบุคคลอื่นหรือจากสหการ
(16) การสร้างและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(17) การจัดตั้งและดูแลตลาดกลาง
(18) การส่งเสริมการกีฬา จารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
(19) การจัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ
(20) การจัดให้มีพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ
(21) การขนส่งมวลชนและการวิศวกรรมจราจร
(22) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(23) การจัดให้มีระบบรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัด
(24) จัดทำกิจการใดอันเป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตและกิจการนั้นเป็นการสมควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
ร่วมกันดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(25) สนับสนุนหรือช่วยเหลือส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(26) การให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(27) การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
(28) จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
(29) กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
กฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 45(8) แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ให้กิจการดังต่อไปนี้ เป็นกิจการที่ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นสมควรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมดำเนินการ หรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ
(1) จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
(2) กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
(3) บำบัดน้ำเสีย
(4) บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(5) วางผังเมือง
(6) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นทางหลวงชนบทตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง
(7) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำ
(8) จัดให้มีท่าเทียบเรือ ท่าข้าม ที่จอดรถ และตลาด
(9) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(10) รักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
(11) จัดการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา และบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(12) จัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬา สถานพักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะและสวนสัตว์ตลอดจนสถานที่ประชุมอบรมสำหรับราษฎร
(13) จัดให้มีการสังคมสงเคราะห์และการสาธารณูปการ
(14) ป้องกันและบำบัดรักษาโรค
(15) จัดตั้งและการบำรุงสถานพยาบาล
(16) ส่งเสริมการท่องเที่ยว
(17) ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ
(18) กิจการที่ได้มีการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจจัดทำกิจการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่น หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่น ที่อยู่นอกเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ เมื่อ
(1) การนั้นจำเป็นต้องกระทำ และเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(2) ได้รับความยินยอมจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ
(3) ได้รับความยินยอมจากสภาแห่งราชการส่วนท้องถิ่น หรือสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้กรมทรัพยากรธรณีจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่นั้น ในอัตราร้อยละยี่สิบ
ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งให้คืนค่าภาคหลวงแร่ ให้แก่ผู้ใช้แร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ให้กรมทรัพยากรธรณีหักค่าภาคหลวงแร่ไว้เพื่อจ่ายคืนให้แก่ผู้ใช้แร่ก่อน แล้วจึงนำค่าภาคหลวงแร่ที่เหลือมาจัดสรรให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดในอัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง
ข้อ 2 ให้กรมทรัพยากรธรณีจัดสรรค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีการจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมนั้น ในอัตราร้อยละสามสิบ
ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความถึงค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่จัดเก็บเป็นตัวเงินเท่านั้น
ข้อ 3 การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ หรือค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่จัดเก็บ สำหรับแร่หรือปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากประทานบัตรหรือสัมปทาน แล้วแต่กรณี ที่มีพื้นที่ตามประทานบัตรหรือสัมปทานอยู่ในเขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายแห่ง ให้กรมทรัพยากรธรณีจัดสรรค่าภาคหลวงแร่หรือค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น ๆ แห่งละเท่ากัน
ข้อ 4 การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่หรือค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ให้มีการจัดสรรปีละสี่งวด ดังนี้
งวดที่หนึ่ง ค่าภาคหลวงที่ได้รับในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ให้จัดสรรภายในเดือนมกราคม
งวดที่สอง ค่าภาคหลวงที่ได้รับในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ให้จัดสรรภายในเดือนเมษายน
งวดที่สาม ค่าภาคหลวงที่ได้รับในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ให้จัดสรรภายในเดือนกรกฎาคม
งวดที่สี่ ค่าภาคหลวงที่ได้รับในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ให้จัดสรรภายในเดือนตุลาคม
ในกรณีที่มีความจำเป็น ทำให้ไม่อาจจัดสรรค่าภาคหลวงแร่หรือค่าภาคหลวงปิโตรเลียมงวดใดได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ขยายระยะเวลาการจัดสรรงวดนั้นออกไป ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะตกลงกัน
กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ผู้พักในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่เสียค่าเช่าห้องพัก เสียค่าธรรมเนียมบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 2
ข้อ 2 การออกข้อบัญญัติจังหวัดเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด จากผู้พักในโรงแรมให้เรียกเก็บได้ในอัตราไม่เกินร้อยละสามของค่าเช่าห้องพัก
ข้อ 3 ให้บุคคลผู้ควบคุมและจัดการโรงแรม เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามข้อ 2 ไว้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทุกครั้งที่มีการเรียกเก็บค่าเช่าห้องพัก และนำส่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดภายในวันที่สิบของเดือนถัดไป
กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 71 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ให้ส่วนราชการหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ซึ่งได้รับมอบจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อเรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าตอบแทน หรือรายได้อื่นใดตามมาตรา 60 มาตรา 64 มาตรา 66 มาตรา 67 และมาตรา 69 หักค่าใช้จ่ายไว้ในอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ให้หักไว้ในอัตราร้อยละสี่ของภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าตอบแทน หรือรายได้อื่นที่เก็บเพิ่มขึ้นหรือมอบให้เก็บ จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541
(2) เมื่อพ้นกำหนดตาม (1) ให้หักไว้ในอัตราร้อยละสามของภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าตอบแทน หรือรายได้อื่น ที่เก็บเพิ่มขึ้นหรือมอบให้เก็บ